จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมการตีพิมพ์ วารสารเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (Journal of Technology and Agricultural Innovation)

จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสาร (Publication Ethics)

วารสารเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (Journal of Technology and Agricultural Innovation : JTAI) เป็นวารสารทางด้านการเกษตรเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและบทความด้านนวัตกรรมเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์การเกษตร เช่น พืชไร่ พืชสวน โรคพืช วัชพืช การจัดการศัตรูพืช พัฒนาการเกษตร สัตวศาสตร์ วิทยาศาสตร์การประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร เทคโนโลยีการอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นักวิจัยในมหาวิทยาลัยทักษิณ และภายนอกมหาวิทยาลัยจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของบุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ

กำหนดการตีพิมพ์ปีละ 2 ฉบับ คือ 1) มกราคม – มิถุนายน 2) กรกฎาคม – ธันวาคมของทุกปี จึงกำหนดให้บทความที่เสนอตีพิมพ์ในวารสาร ต้องผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ และ มีประสบการณ์ สามารถให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์แก่นักวิจัย/ผู้เขียนก่อนการตีพิมพ์ จำนวน 3 ท่าน หากมีผลการประเมินต่างกันนั้น ให้บรรณาธิการพิจารณา โดยจะไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความ (แบบ double-blinded peer review)

วารสารเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (Journal of Technology and Agricultural Innovation) ได้กำหนดบทบาทและหน้าที่สำหรับบุคคล 3 กลุ่ม ที่อยู่ในวงจรการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ได้แก่ ผู้นิพนธ์ (Author) ผู้ประเมินบทความ (Reviewer) และบรรณาธิการวารสาร (Editor) เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 กลุ่ม ได้ศึกษาและปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด และเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตลอดจนถึงผู้อ่าน และผู้ใช้ประโยชน์อื่นๆ

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

  1. ผู้นิพนธ์ต้องรายงานผลสรุปผล หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
  2. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารใดมาก่อน และไม่ได้กำลังเสนอขอตีพิมพ์ที่อื่นใด
  3. ผู้นิพนธ์ต้องมีการอ้างอิงผลงานที่นำมาใช้ในงานของตนเอง (ถ้ามี) และนำการอ้างอิงนั้นไปใส่ไว้ในรายการอ้างอิงท้ายบทความ
  4. ผู้นิพนธ์ต้องใส่ชื่อผู้ร่วมวิจัยทั้งหมด ในกรณีที่งานวิจัยมีผู้ร่วมทำงานหลายคน
  5. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นไม่มีข้อความ ภาพประกอบ และตารางใดๆ ที่เมื่อตีพิมพ์แล้วจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ส่วนบุคคลของผู้หนึ่งผู้ใด
  6. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้ (ถ้ามี)
  7. ผู้นิพนธ์ต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินจะต้องรักษาความลับอย่างเคร่งครัด และจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลขณะประเมินบทความให้แก่บุคคลอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องทราบ
  2. ผู้ประเมินไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ซึ่งส่งผลให้การประเมินขาดความ โปร่งใส ไม่เป็นอิสระ หากมีควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบแต่เบื้องต้นที่ได้รับบทความ
  3. ผู้ประเมินบทความควรมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่ตนประเมิน โดยต้องให้ความสำคัญในด้านคุณภาพของบทความ และตัดสินโดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการจากบทความวิจัยหรือบทความวิชาการ โดยไม่ตัดสินด้วยเหตุผลส่วนตัวอคติส่วนตัว
  4. ผู้ประเมินควรตรวจสอบความซ้ำซ้อนของบทความ หากพบว่ามีการคัดลอก เจตนาให้ข้อมูลเท็จ หรือปิดบังอำพรางต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคุณภาพบทความที่เสนอตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร
  2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
  3. บรรณาธิการจะคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
  4. บรรณาธิการต้องไม่ลงตีพิมพ์ หรือตอบรับบทความโดยที่ไม่มีข้อมูลยืนยัน
  5. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ร่วมกับผู้นิพนธ์ และผู้ประเมิน
  6. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) หากบรรณาธิการตรวจสอบพบต้องหยุดการประเมินทันที พร้อมส่งหนังสือถึงผู้นิพนธ์ทันที เพื่อขอคำชี้แจงระกอบการตอบรับหรือ ปฏิเสธ การตีพิมพ์บทความนั้น