มะพร้าวกะทิน้ำหอมพันธุ์แท้ทางเลือกใหม่ เพื่อสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด

ผู้แต่ง

  • ปริญดา หรูนหีม ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี 84170
  • กุลินดา แท่นจันทร์ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร อ.สวี จ.ชุมพร 86130
  • สมชาย วัฒนโยธิน ข้าราชการบำนาญ กรมวิชาการเกษตร
  • สุภัทรา เลิศวัฒนาเกียรติ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

คำสำคัญ:

มะพร้าวกะทิพันธ์ุแท้, คุณภาพผลผลิต, ผลตอบแทนสุทธิ

บทคัดย่อ

มะพร้าวกะทิ (Macapuno coconut) เป็นที่ต้องการของตลาดขนมหวาน และตลาดคนรักสุขภาพ โดยปกติในธรรมชาติไม่มีต้นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้  ผลที่เป็นมะพร้าวกะทิไม่สามารถงอกได้โดยธรรมชาติ การขยายพันธุ์จึงต้องใช้การเพาะเลี้ยงคัพภะ ในธรรมชาติจะพบผลที่เป็นมะพร้าวกะทิ ไม่เกิน 0.3 เปอร์เซ็นต์  ด้วยมะพร้าวกะทิเป็นมะพร้าวที่หายาก  ส่งผลให้มีราคาสูงกว่ามะพร้าวธรรมดาหลายเท่าตัว หากสามารถทำให้มะพร้าวทุกผลเป็นมะพร้าวกะทิก็จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรแบบก้าวกระโดดสร้างความยั่งยืนในอาชีพ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ ที่ให้ผลผลิตสูงไม่ต่ำกว่า 80 ผล/ต้น/ปี ขนาดผลไม่ต่ำกว่า 1,500 กรัม/ผล  และมีผลผลิตที่เป็นมะพร้าวกะทิทุกผล โดยดำเนินปลูกทดสอบมะพร้าวน้ำหอมกะทิพันธุ์แท้ (NHK-C2) จำนวน 121 ต้น ระหว่างปี 2556–2565 ที่สวนผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมคันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี พบว่า มะพร้าวน้ำหอมกะทิพันธุ์แท้  ให้ผลผลิตเร็ว ในช่วงอายุ 8-9 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 105 ผล/ต้น/ปี หรือ 2,310 ผล/ไร่/ปี  ผลขนาดกลางถึงใหญ่ โดยมีน้ำหนักเฉลี่ย 2,032 กรัม/ผล และผลผลิตทุกผลเป็นมะพร้าวกะทิ จากการทดสอบคุณภาพผลผลิต จำนวน 1,500 ผล พบว่า มีเนื้อนิ่มไม่ฟู น้ำใส เฉลี่ย 14 เปอร์เซ็นต์ เนื้อฟูปานกลาง น้ำข้นเล็กน้อย เฉลี่ย 66 เปอร์เซ็นต์ และ เนื้อฟูเต็มกะลา น้ำข้นเหนียว เฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์ และพบว่ามะพร้าวเนื้อฟูเต็มกะลา-น้ำข้นเหนียว ได้รับคะแนนความชอบบริโภคสดสูงที่สุด และมะพร้าวเนื้อฟูปานกลาง-น้ำข้น ได้รับคะแนนความชอบบริโภคแปรรูป (มะพร้าวกะทิเชื่อม) สูงที่สุด และมะพร้าวน้ำหอมกะทิพันธุ์แท้มีผลตอบแทนสุทธิสูงที่สุด 155,608 บาทต่อไร่ต่อปี มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อการลงทุนสูงที่สุด คือ 17.49 ในขณะที่มะพร้าวกะทิลูกผสมพันธุ์ชุมพร 84-2 ให้ผลตอบแทนสุทธิ 41,419 บาทต่อไร่ และมะพร้าวแกงให้ผลตอบแทนสุทธิต่ำที่สุด 8,363 บาทต่อไร่ต่อปี

 

References

ศิวเรศ อารีกิจ. 2562. การพัฒนาพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม-เนื้อกะทิแบบก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอ.

เอกสารรายงานความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอ. 34 หน้า.

โครงการวิจัยโครงการการพัฒนาพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม-เนื้อกะทิ

สมชาย วัฒนโยธิน. 2552. มะพร้าวลูกผสมกะทิ สุดยอดผลผลิตวิจัยไทย กรมวิชาการเกษตรทำได้. เทคโนโลยีชาวบ้าน

น.50-58 ปีที่ 21 ฉบับที่ 549:15 กรกฎาคม 2552.

สมภพ แซ่ลิ้ม. 2562. Thapsakae Coco ขยายตลาดเจาะร้านเพื่อสุขภาพ. ฐานเศรษฐกิจ (26 มีนาคม 2562)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-12-28