ผลของสารลดแรงตึงผิวประเภทเวตโคตติงซิลิโคนและสารลดแรงตึงผิวประเภท N70 ต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดหวานพันธุ์อินทรี 2
คำสำคัญ:
สารลดแรงตึงผิว, สารกำจัดศัตรูพืช, ข้าวโพดหวานบทคัดย่อ
การใช้สารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูพืช และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพและปริมาณสูงขึ้น การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้สารลดแรงตึงผิวประเภทเวตโคตติงซิลิโคน และสารลดแรงตึงผิวประเภท N 70 ร่วมกับสารสไปนีโทแรม ต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดหวานพันธุ์อินทรี 2 และประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm: Spodoptera frugiperda J. E. Smith) วางแผนการทดลองแบบ completely randomized design (CRD) ประกอบด้วย 6 ตำรับการทดลอง จำนวน 3 ซ้ำ ได้แก่ ตำรับการทดลองที่ 1. ฉีดพ่นน้ำเปล่า (T1) ตำรับการทดลองที่ 2. ฉีดพ่นสารลดแรงตึงผิวประเภท N 70 (T2) ตำรับการทดลองที่ 3. ฉีดพ่นสารลดแรงตึงผิวประเภทเวตโคตติงซิลิโคน (T3) ตำรับการทดลองที่ 4. ฉีดพ่นสารสไปนีโทแรม (T4) ตำรับการทดลองที่ 5. ฉีดพ่นสารลดแรงตึงผิวประเภท N 70 ร่วมกับสารสไปนีโทแรม (T5) และตำรับการทดลองที่ 6. ฉีดพ่นสารลดแรงตึงผิวประเภทเวตโคตติงซิลิโคน ร่วมกับสารสไปนีโทแรม (T6) ผลการศึกษาพบว่า การใช้สารลดแรงตึงผิวกลุ่มเวตโคตติงซิลิโคน ร่วมกับสารกำจัดศัตรูพืช (สารสไปนีโทแรม) (T6) มีอัตราความเสียหายจากการเข้าทำลายของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่ข้าวโพดหวานอายุ 35 วัน เท่ากับ 0.00 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือการใช้สารลดแรงตึงผิวกลุ่ม N70 ร่วมกับสารกำจัดศัตรูพืช (สารสไปนีโทแรม) (T5) มีอัตราความเสียหายที่ 0.22 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการฉีดพ่นสารสไปนีโทแรมเพียงอย่างเดียว (T4) มีอัตราความเสียหายที่ 0.44 เปอร์เซ็นต์ การฉีดพ่นสารลดแรงตึงผิวประเภทเวตโคตติงซิลิโคน ร่วมกับสารสไปนีโทแรม (T6) ส่งผลให้ความสูงของต้น และความสูงคอใบสุดท้ายของข้าวโพดหวานอินทรี 2 สูงที่สุด ซึ่งค่าระดับความสูงของต้นส่งผลโดยตรงต่อการให้ผลผลิต ทั้งน้ำหนักฝักทั้งเปลือกรวม (2251.59 กิโลกรัม) น้ำหนักฝักทั้งเปลือกเฉลี่ย (300.24 กรัม/ฝัก) น้ำหนักฝักปอกเปลือกรวม (1756.17 กิโลกรัม) น้ำหนักฝักปอกเปลือกเฉลี่ย (223.25 กรัม/ฝัก) ความยาวฝัก (16.79 เซนติเมตร) และความกว้างฝัก (4.33 เซนติเมตร) ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับตำรับควบคุม จากการศึกษานี้ แสดงให้เห็นถึงการใช้สารลดแรงตึงผิวในการเพิ่มประสิทธิภาพของการฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช (สารสไปนีโทแรม) ในข้าวโพดหวานอินทรี 2
References
กรมวิชาการเกษตร. 2561. หนอนกระทู้โผล่แปลงข้าวโพด แนะปราบตามหลักวิชาการเอาอยู่. (ระบบออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.moac.go.th/news-preview-411891791245, 17 มีนาคม 2562.
โชคชัย เอกทัศนาวรรณ. 2552. ข้าวโพดหวานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ อินทรี 2. ข่าวสารเกษตรศาสตร์ 54 (1): 16-29.
ธีรศักดิ์ ชนิดนอก, พีระยศ แข็งขัน และ ฤชุอร วรรณะ. 2557. ประสิทธิภาพของสารสกัดจากใบยูคาลิปตัส (Eucalyptus camaladulesis Dehnh) ต่อการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง (Phenacoccus manihoti Matile- Ferrero). วารสารแก่นเกษตร 42 ฉบับพิเศษ 1 : 505-511.
ธรรมธวัช แสงงาม, ใยไหม ช่วยหนู, อาณัติ เฮงเจริญ, ศิริสุดา บุตรเพชร และธวัชชัย อินทร์บุญช่วย. 2566. ผลของการฉีด พ่นสารลดแรงตึงผิวประเภทเวตโคตติงซิลิโคนและสารลดแรงตึงผิวประเภท N70 ต่อประสิทธิภาพการให้ปุ๋ยทาง ใบของฝรั่งพันธุ์หวานพิรุณ. วารสารวิชาการวิทยาศาสตร์เกษตรและการจัดการ 6 (2): 1-11.
ประดับ เรียนประยูร และวรรธนะชัย ปฐมสิริวงศ์. 2563. คู่มือการผลิตสารลดแรงตึงผิวพืชทางชีวภาพสำหรับการเกษตร. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, สุรินทร์.40 หน้า.
พรรณี พิเดช. 2530. เทคนิคการวิเคราะห์ และความรู้เบื้องต้นสำหรับห้องปฏิบัติการพิษวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กรุงเทพฯ. 227 หน้า.
ยงยุทธ โอสถสภา. 2546. ธาตุอาหารพืช (พิมพ์ครั้งที่ 2). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 424หน้า.
สุรัสวดี กังสนันท์. 2563. สารลดแรงตึงผิว. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์เทคโนโลยีการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สงขลา. 176 หน้า.
Brain, A.N., R.K. Sandhi, E.G. Harding and R. Teresa. 2022. Optimizing spinosyn insecticide applications for allium leafminer (Diptera: Agromyzidae) management in allium crops. Journal of Economic Entomology 115(2):618–623.
Gimenes, M.J., H. Zhu, C.G. Raetano and R.B. Oliveira. 2013. Dispersion and evaporation of droplets amended with adjuvants on soybeans. Journal of Crop Protection 44:84-90.
IRAC. 2017. IRAC Mode of Action Classification Scheme. (online): Available Source: https://projects.au.dk/fileadmin/projects/norbarag/Insecticide_group/Documents_Website/IRAC_MoA-classification_v8.3_31July17.pdf (13 Nov. 2017).
Jeanne, D., J.S. Veronika, G. Caroline and G. Sharon. 2018. Effect of surfactant application practices on the vertical transport potential of hydrophobic pesticides in agrosystems. Journal of Chemosphere 209 (3):78-87.
Huan L., Z. Hongping, X. Linyun, Z. Heping and H. Huanhua. 2016. Effect of surfactant concentration on the spreading properties of pesticide droplets on eucalyptus leaves. Journal of Biosystems Engineering 143 (2):42-49.
Prado, E.P., C.G. Raetano, M.D. Pogetto, R.G. Chechetto, P.J.F. Filho, A.C. Magalhães and C.T. Miasaki. 2016. Effects of agricultural spray adjuvants in surface tension reduction and spray retention on eucalyptus leaves. African Journal of Agricultural Research 11 (40):3959-3965.
Xu, L., H. Zhu, H.E. Ozkan, W.E. Bagley, R.C. Derksen and C.R. Krause. 2010. Adjuvant effects on evaporation time and wetted area of droplets on waxy leaves. Transactions of the American Society of Agricultural and Biological Engineers 53(1):13-20.