ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้กับอายุปักแจกันของกล้วยไม้หวายตัดดอก
คำสำคัญ:
ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้, กล้วยไม้หวาย, คุณภาพบทคัดย่อ
การศึกษาในดอกไม้หลายชนิดพบความสัมพันธ์ชัดเจนระหว่างปริมาณอาหารสะสมกับอายุของดอกไม้ หากทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (soluble solids content: SSC) กับอายุปักแจกัน อาจจะทำให้สามารถใช้ SSC เป็นดัชนีบ่งบอกถึงคุณภาพของดอกไม้ได้ ดังนั้นจึงศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง SSC กับอายุปักแจกันในกล้วยไม้หวายตัดดอก ประเมินความสัมพันธ์ด้วยค่า correlation coefficient (r) แบ่งการทดลองออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณ SSC ในก้านช่อดอกกับอายุการปักแจกันของช่อดอก ในกล้วยไม้หวาย 6 สายพันธุ์ คือ พันธุ์โซเนีย ลัคกี้ พริ้นเซส ซากุระ บรูณะเจต และลัคกี้ดัว และกล้วยไม้หวายพันธุ์ขาวสนานที่มีจำนวนดอกบานแตกต่างกัน คือ 3 4 5 และ 6 ดอก พบว่า SSC ในก้านช่อดอกของกล้วยไม้หวายพันธุ์ต่างๆ ไม่มีความสัมพันธ์กับอายุปักแจกัน (r=0.071, P=0.711) และ SSC ในก้านช่อดอกของกล้วยไม้หวายพันธุ์ขาวสนานที่มีดอกบานต่างกันมีความสัมพันธ์กับอายุการปักแจกันค่อนข้างต่ำ (r=0.280, P=0.03) การทดลองส่วนที่ 2 ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง SSC ในใบกล้วยไม้จากต้นกล้วยไม้หวายพันธุ์ขาวสนานอายุ 1 2 และมากกว่า 2 ปี กับอายุการปักแจกันของช่อดอก พบว่า SSC ในใบกล้วยไม้กับอายุการปักแจกันของช่อดอกกล้วยไม้มีความสัมพันธ์กันต่ำ (r=0.183, P=0.025) สรุปได้ว่าไม่สามารถใช้ SSC เป็นดัชนีบ่งบอกถึงคุณภาพของกล้วยไม้หวายตัดดอกได้