ความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของสารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์กับสภาพการนำน้ำขณะดินอิ่มตัว ในชุดดินสระบุรี
คำสำคัญ:
สภาพการนำน้ำขณะดินอิ่มตัว, ค่าสภาพการนำไฟฟ้า, ชุดดินสระบุรีบทคัดย่อ
ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของสารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ในระดับต่างๆ กับสภาพการนำน้ำขณะดินอิ่มตัวในชุดดินสระบุรี โดยวางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design (CRD) จำนวน 6 ตำรับทดลอง ทำการทดลอง 3 ซ้ำ ประกอบด้วยความเข้มข้นของสารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่แตกต่างกัน 6 ระดับ คือ 0, 15, 20, 25, 50 และ 100 กรัม/ลิตร ทำการทดลอง 2 ชุดการทดลองในดินตอนบนที่ระดับความลึก 0-15 เซนติเมตร และ 15-30 เซนติเมตร ทำการเก็บตัวอย่างดินแบบไม่รบกวนโครงสร้างด้วยกระบอกเก็บตัวอย่างดิน วิเคราะห์สภาพการนำน้ำขณะดินอิ่มตัวด้วยน้ำภายใต้สภาพน้ำที่มีความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์ในระดับต่างๆ ด้วยวิธีแรงขับน้ำถดถอย ผลการทดลองพบว่า สารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ระดับความเข้มข้นแตกต่างกันส่งผลต่อค่าสภาพการนำน้ำขณะดินอิ่มตัวที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ โดยสารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ส่งผลให้ดินมีค่าสภาพการนำน้ำขณะดินอิ่มตัวสูงขึ้น และพบความสัมพันธ์ในรูปแบบของฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลระหว่างความเข้มข้นของสารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์กับสภาพนำน้ำขณะดินอิ่มตัว ด้วยสมการ y = 0.0014e0.7707x ค่า R2 = 0.907 ในดินที่ระดับความลึก 0-15 เซนติเมตร และด้วยสมการ y = 0.0038e0.2907x ค่า R2 = 0.8406 ในดินที่ระดับความลึก 15-30 เซนติเมตร และยังพบว่าสารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ระดับความเข้มข้นสูงที่สุด คือ 100 กรัม/ลิตร ให้ค่าสภาพนำน้ำขณะดินอิ่มตัวสูงที่สุดในดินทั้งสองระดับความลึก